“บายศรีผ้าใยกล้วยหนึ่งเดียวในโลก” คหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี บรรจงรังสรรค์รับน้องใหม่
คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2566 ต้อนรับนักศึกษาด้วยบายศรีผ้าใยกล้วยหนึ่งเดียวในโลก (นวัตกรรมศิลปประดิษฐ์) ประดิษฐ์จากผ้าใยกล้วย เป็นการบูรณาการผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ด้วยศิลปวัฒนธรรมผสมผสานบูรณาการกับการจัดกิจกรรมของนักศึกษา สู่การออกแบบและประดิษฐ์สร้างสรรค์โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิจิตร สนหอม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม นายธีร์คณาธิป ไพฑูรย์ ศิษย์เก่าสาขาวิชานวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์ นายธันยพงศ์ ประทิป ณ ถลาง ประธานฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สโมสรนักศึกษา และนักศึกษาสาขาวิชานวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์
รองศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร ยังเผยอีกว่า “พาขวัญร่วมสมัย กัฑลีไทยสู่การพัฒนา” บายศรีผ้าใยกล้วยหนึ่งเดียวในโลก เป็นบายศรีรูปแบบดั้งเดิมด้วยแนวคิดใหม่ จากผลิตภัณฑ์งานวิจัยผ้าใยกล้วย บูรณาการสู่กระบวนการออกแบบและสร้างสรรค์ ผสมผสานแนวความคิดเข้ากับวัสดุที่หลากหลายในการประดิษฐ์สร้างสรรค์งานฝีมือด้วยวัสดุสมัยใหม่เช่น วัสดุสังเคราะห์ ลูกปัด เลื่อม งานดินปั้นแบบไทย เพื่อเป็นการประยุกต์ใช้แทนวัสดุธรรมชาติของเดิม อย่างใบตอง ดอกพุด ดอกรัก หรือดอกไม้ ใบไม้ต่าง ๆ รูปแบบของบายศรี ได้นำแนวคิดจากสถาปัตยกรรม ลวดลายเครือเถา ลายขดม้วน ลายใบไม้ และวัฒนธรรมแบบตะวันตก มาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทย ให้มีความร่วมสมัย ด้วยการใช้สีเอกรงค์ โทนสีขาวครีมจากผ้าใยกล้วยและวัสดุที่เลือกใช้ แสดงถึงความอบอุ่น เรียบง่าย สบายตา เปรียบดั่งความรักความอบอุ่นที่เราชาวคหกรรมศาสตร์ มีให้กับนักศึกษาใหม่ และรุ่นน้อง สีชมพู เป็นสีประจำคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ บ่งบอกถึงความนุ่มนวล ความอ่อนโยน อ่อนหวาน แสดงถึง การดูแลเอาใจใส่ และมิตรภาพที่ดี ใช้เวลาในการบรรจงสร้างสรรค์ผลงานอย่างปราณีตและงดงาม กว่า 300 ชั่วโมง เป็นการร่วมแรงร่วมใจของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ รุ่นพี่ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ตลอดจนทีมงานสโมสรนักศึกษา เพื่อตั้งใจนำมาต้อนรับน้อง ๆ นักศึกษาใหม่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปีการศึกษา 2566 ที่เข้ามาเป็นครอบครัวกับพวกเราชาวพวงชมพู “ช่อพวงชมพูที่ 49” เป็นอีก 1 SOFT POWER ของวัฒนธรรมไทย ที่มีการนำผลงานวิจัยของนักคหกรรมศาสตร์ มาบูรณาการด้วยนวัตกรรมทางคหกรรมศาสตร์
.