สถาบันการบินแห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ชี้แจงกรณีมีผู้ร้องเรียนหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยานว่าเป็นหลักสูตรขายฝัน ไม่มีมาตรฐาน จบแล้วไม่มีงานทำ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายที่แพงพร้อมมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยัน มีมาตรฐานครบถ้วนระดับสากลทั้งหลักสูตรและคณาจารย์ผู้สอน ส่วนค่าเรียนเหมาจ่าย 490,000 บาท ไม่มีเรียกเก็บเพิ่ม จบแล้วมีงานทำในบริษัทชั้นนำและสถาบันการบินที่เกี่ยวข้องจริง
รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ ) มอบหมายให้ ผศ.ดร.ภูริวัตร คัมภีรภาพพัฒน์ รองอธิการบดี พร้อม ผศ.ชัยศักดิ์ คล้ายแดง รองอธิการบดี นายบุญช่วย เจริญผล ผู้ช่วยอธิการบดี และคณะผู้บริหารหลักสูตรรวมทั้งศิษย์เก่า แถลงข่าวชี้แจงกรณีมีผู้ร้องเรียนหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยานว่าเป็นหลักสูตรขายฝัน ไม่มีมาตรฐาน จบแล้วไม่มีงานทำ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายที่แพงพร้อมมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีกเป็นเท่าตัว โดยคณะผู้บริหาร มทร.กรุงเทพ ได้กล่าวโดยสรุปว่าการร้องเรียนที่ผ่านมามีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนหลายประการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง จึงขอชี้แจงเรื่องหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยานตามลำดับดังต่อไปนี้
๑. หลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร ที่ทางสถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เกิดจากวิสัยทัศน์ของคณะทำงานที่ประกอบด้วยท่านอธิการบดีของ มทร.กรุงเทพฯ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐ ที่เล็งเห็นการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในช่วงนั้นส่งเสริมให้มีสถาบันที่สามารถผลิตบุคคลากรเข้าสู่วงการอุตสาหกรรมการบินให้มีคุณภาพและพอเพียง หากจะมองดูสถาบันลักษณะนี้ที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนั้นมีอยู่ไม่กี่แห่งประกอบกับที่ในช่วงนั้นประเทศไทยถูกติดธงแดงจากการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) โดยมาตรฐาน EASA (European Union Aviation Safety Agency) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องสถาบันฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานไว้ใน ANNEX IN (PART 147) Training and Maintenance Organization Approval ซึ่งสถาบันที่ต้องการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานให้ได้ใบรับรองของสหภาพยุโรป ตามภาคผนวก III EASA PART 66 Aircraft Maintenance Personnel Licensing ใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน สถาบัน นั้นจำเป็นต้องได้รับการรับรอง โดย EASA ได้แบ่งใบอนุญาตไว้เป็น ๔ หมวด เบื้องต้น ดังนี้
๑.๑ Category A สำหรับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ เครื่องยนต์ทั้งแบบเทอร์ไบน์และลูกสูบ
๑.๒ Category B1 สำหรับเครื่องบินทุกประเภท ทั้งแบบปีกแข็งและปีกหมุน (เฮลิคอปเตอร์)และ
ทั้งเครื่องยนต์แบบเทอร์ไบน์และลูกสูบ
๑.๓ Category B2 สำหรับอากาศยานทุกประเภท งานอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน
๑.๔ Category B3 สำหรับเครื่องบินประเภทไม่มีระบบปรับความดันอากาศและใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ มีขนาดน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 2000 กิโลกรัมหรือน้อยกว่า
๑.๕ Category C วิศวกรลงนามรับรองอากาศยานหลังการซ่อม ซึ่งใน Category B1 ถูกแบ่งย่อยออกเป็น B 1.1 B 1.2 และ B 1.3 ตามประเภทเครื่องบินและเครื่องยนต์ โดยสถาบันการบินฯ ได้รับการรับรองให้เปิดสอนร่วมกับบริษัทแอร์โรบินดุงฯ ให้เปิดสอนหลักสูตร B 1.1 สำหรับเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์ไบน์
จากเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เห็นความสำคัญของการพัฒนา บุคลากรด้านช่างซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐานสากลเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการเข้าสู่อาชีพ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยจัดทำเป็นหลักสูตรที่รับรองตามมาตรฐาน EASA คณะทำงานจึงต้องแสวงหาบริษัทหรือสถาบันที่เปิดหลักสูตรนี้และได้รับการรับรองจาก EASA อยู่แล้วในยุโรปเพื่อกระทำข้อตกลงร่วมในการรับรองหลักสูตรที่จัดทำขึ้นให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ EASA และได้มาบรรลุข้อตกลงกับบริษัท Aero Bildung Aviation Training Center ประเทศเยอรมนี โดยข้อตกลงว่าสถาบันในประเทศเยอรมนีจะมาฝึกอบรมผู้ที่จะทำการสอนหลักสูตรทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีทั้งการฝึกอบรมในประเทศไทยและส่งไปฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมประเทศเยอรมนี เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามข้อกำหนด EASA ทาง Aero Bildung Aviation Training Center จึงขอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐเยอรมนี (LBA) รับรองสถานที่จัดการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน การฝึกอบรมของนักศึกษาว่าได้มาตรฐานตรงตามข้อกำหนด EASA จึงออกหนังสือรับรองให้กับ มทร.กรุงเทพฯ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลใกล้ชิดจากบริษัท Aero Bildung Aviation Training Center
ในด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรียนการสอนในหลักสูตรค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสถาบันการ บินอื่น ๆ แต่ข้อดีเมื่อเทียบกับการเรียนที่สถาบันอื่น ๆ ในประเทศ คือ นักศึกษาเรียนหลักสูตรที่เป็นสากลเมื่อจบหลักสูตรและได้รับใบประกาศนียบัตรที่รับรอง โดย EASA สามารถนำไปประกอบกับการได้ปฏิบัติงานจริงกับการซ่อมเครื่องบินเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี และหลักฐานประสบการณ์ทำงานใน รูปแบบของ Logbook สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบอาชีพซ่อมบำรุงอากาศยาน EASA License Part 66 ได้โดยไม่มีการสอบ ซึ่งสถานที่ประกอบธุรกิจการบินที่ปฏิบัติงานนั้นต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการ รับรองจากสถาบันการบินในประเทศนั้นๆ ดังนั้นทุกสายการบินที่มีการซ่อมบำรุงเครื่องบินในประเทศไทย ทุกแห่งต้องผ่านการรับรองทั้งสิ้น แต่หากไม่ผ่านหลักสูตรนี้ ก็ต้องไปปฏิบัติงานกับเครื่องบินอย่างน้อยสี่ปีจึงจะมีสิทธิ์ได้สอบ ทั้งนี้ การมีสิทธิ์ได้สอบหากสอบไม่ผ่านก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตที่ผ่านมาทางสถาบันการบินฯ ได้เปิดการเรียนการสอนและผลิตนักศึกษาหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยาน สำเร็จไปแล้วจำนวน ๖ รุ่น โดยรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่ด้วยมาตรฐานกำหนดให้ผู้เรียนต้องสอบผ่านทุกโมดูล โดยคะแนนที่ผ่านคิดเป็นร้อยละ ๗๕ รวมทั้งมีชั่วโมงฝึกที่ครบถ้วน จึงมีผู้เรียนบางคนที่สอบไม่ผ่านโมดูลต่าง ๆ ซึ่งทางสถาบันการบินฯ ได้มีการจัดให้สอบแก้ตัวจนผ่าน รวมถึงการฝึกปฏิบัติให้ใหม่ ทำให้การจบหลักสูตรบางรายอาจช้ากว่ากำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็สำเร็จการศึกษาและรับใบประกาศนียบัตรไปประกอบอาชีพได้ แม้จะยังไม่ตรงสายจนมีคุณสมบัติพอจะยื่น License ได้ กอปรกับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกถดถอยและเกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดไวรัสโคโรนา (โควิด-๑๙) ที่ทำให้ธุรกิจหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินเกิดผลกระทบค่อนข้างรุนแรง แทบปิดตัวลง การรับพนักงานใหม่ จึงยังไม่เป็นทางเลือกของธุรกิจ ซึ่งหลายหน่วยงานพนักงานเก่าก็มีที่ถูกจ้างออก เลิกจ้าง พักงาน ลดเงินเดือน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่เรียนจบแล้วยังหางานไม่ได้ แต่ทางสถาบันการบินฯ ก็หวังว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ธุรกิจการบินก็จะกลับมาฟื้นตัวและเจริญเติบโตได้อีกจึงมุ่งมั่นที่จะทำหลักสูตรนี้ต่อไป
๒. การเรียนการสอนของหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นมาตรฐานหลักสูตรมีการกำกับดูแลด้วย ตัวแทนของบริษัท Aero Bildung Aviation Training Center ที่ประจำอยู่ที่สถาบันการบินฯ มีการ Audit เป็นวงรอบอย่างมีประสิทธิภาพ ตามข้อกำหนดทางเทคนิคด้านบุคลากรของ EASA PART 147 Training and Maintenance Organization Approval เช่น
๒.๑) สถาบันต้องว่าจ้างบุคลากรในจำนวนที่เพียงพอเพื่อทำหน้าที่วางแผนการสอน เป็นอาจารย์และสอบภาคทฤษฎี ผู้ฝึกและสอบประเมินภาคปฏิบัติ ตามขีดความสามารถที่ได้รับอนุมัติ ๒) บุคลากรคนหนึ่งอาจทำหน้าที่เป็นได้ทั้ง ผู้สอน ผู้สอบ และผู้ประเมินภาคปฏิบัติ
๒.๒) สถาบันต้องกำหนดไว้ในเอกสารคู่มือปฏิบัติการ (Maintenance Training Organization Exposition) ถึงคุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้สอน ผู้สอบ และผู้ประเมินภาคปฏิบัติ และให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้เห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก EASA
๒.๓) ผู้สอนและผู้สอบภาคทฤษฎี ต้องสอบผ่านในวิชาที่สอน และต้องเข้ารับการอบรมทบทวนความรู้อย่าง น้อยไม่เกินทุก ๒๔ เดือน ทั้งความรู้ที่เทคโนโลยีการบินปัจจุบัน ทักษะภาคปฏิบัติ กฎระเบียบด้านการบินความรู้ด้านมนุษยปัจจัย และเทคนิคการสอน ฯลฯ ซึ่งในหลักสูตรมีจำนวนอาจารย์ผู้สอนเพียงพอกับจำนวน นักศึกษา ในส่วนของผู้บริหารสถาบันการบินฯ เป็นการหมุนเวียนตามวาระการตำรงตำแหน่ง ซึ่งอาจจะอยู่ในตำแหน่งเดิม ๒-๔ ปี ตามระเบียบของทางสถาบัน ดังนั้นในทำเนียบอาจารย์ผู้มีสิทธิ์ทำการสอนจะมีชื่อมีใบอนุญาตที่จะสอนได้ตามมาตรฐานกำหนดเนื่องเพราะอาจารย์ที่บรรจุชื่ออยู่ในทำเนียบผู้มีสิทธิ์สอนได้ผ่านการสอบจาก EASA แล้วทุกท่าน
๓. การจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การเรียนของสถาบันการบินซึ่งอาจมีราคาสูง เนื่องจากอุปกรณ์การเรียนการสอนมาจากข้อกำหนดในการจัดทำหลักสูตร EASA ที่กำหนดให้มีอุปกรณ์การฝึกนักศึกษาอย่างพอเพียงรวมทั้งครูผู้สอนก็ต้องเพียงพอต่อจำนวนนักศึกษาเพราะการฝึกปฏิบัติจริงต้องใช้ครูฝึกหนึ่งคนต่อนักศึกษาไม่เกินสิบห้าคน หากเกินสิบห้าคนจำเป็นต้องมีครู้ฝึกเพิ่มอีกหนึ่งคน ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการมีกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการตามระเบียบราชการ และทางสถาบันการบินฯ ได้จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนที่สำคัญและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อเพิ่ม ศักยภาพให้กับผู้เรียนอีกด้วย
๔. การสอนการฝึกที่สถาบันการบินฯ เป็นการเรียนการฝึกเบื้องต้นให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ ได้เรียนรู้ชิ้นส่วนต่างๆ ภายในโครงสร้างเครื่องบินอย่างละเอียด มีการฝึกการซ่อมโครงสร้าง เครื่องบินที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนจึงเป็นเครื่องบินเก่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเครื่องบินที่บินได้จริงมาให้ผู้เรียนได้ฝึก ซึ่งเปรียบเทียบได้กับนักเรียนแพทย์ที่ต้องศึกษาโครงสร้างมนุษย์จากร่างอาจารย์ใหญ่ อีกทั้งหลังการเรียน ในการเตรียมการสอบ อาจารย์ผู้สอนยังเอื้อเฟื้อในการติวเนื้อหาข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติมเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นข้อสอบมาตรฐานของทาง EASA
๕. การเรียนการสอนของหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยาน มีทั้งหมดจำนวน ๑๓ โมดูล รวมทั้งสิ้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติรวม ๒,๔๐๐ ชั่วโมง มีการเรียนที่สถาบันการบินฯ และการเรียนนอกสถานที่ เช่น
-เรียนภาคปฏิบัติโมดูล 7. Maintenance Practices, 11. Aero-plane, Aerodynamic, Structures and Systems, 15. Gas Turbine Engine และ 17. Propeller ณ บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด ที่มีสภาพแวดล้อมเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน และได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
หากนักศึกษาตั้งใจเรียน ตั้งใจฝึก ก็สามารถสำเร็จการศึกษา จบหลักสูตรได้อย่างดี รวมทั้งเมื่อจบหลักสูตรก็สามารถทำงานแล้วไปขอใบอนุญาต (License) ได้จริงตามที่ตัวแทน EASA ชี้แจง
๖. ก่อนเปิดการเรียนการสอนในทุกรุ่น ทางสถาบันการบินฯ จะมีการปฐมนิเทศนักศึกษาและผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจ ชี้แจงรายละเอียดหลักสูตร ขั้นตอนการเรียนการสอนรวมถึงการฝึกภาคปฏิบัติ รวมถึง ค่าใช้จ่ายในการเรียนให้กับนักศึกษาและผู้ปกครองรับทราบอย่างละเอียดตลอดมา
ทางด้านศิษย์เก่า 4 คนที่มาร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้ต่างยืนยันว่า หลักสูตรการเรียนการสอนมีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล และถือว่าสอบผ่านยากมาก ต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการสอบ ถ้าไม่ทุ่มเทจริง ๆ ก็อาจจะไม่จบหรือจบช้า ทั้งนี้การสอบจะเปิดโอกาสให้สอบซ่อมแก้ตัวได้ ส่วนค่าใช้จ่ายยืนยันว่าจ่ายที่ 490,000 บาทเท่านั้น ไม่มีการเรียกเก็บค่าเรียนหรือค่าอุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติม ในส่วนของพวกตนนั้นเมื่อเรียนจบหลายคนก็มีงานทำ และส่วนหนึ่งก็เรียนต่อในระดับปริญญาตรี และก็มีงานที่ดีในองค์กรการบินชั้นนำให้ทำจนถึงปัจจุบันนี้